ริดสีดวงทวารหนัก


อาการผิดปกติทางทวารหนักที่พบได้บ่อยที่สุดเรื่องหนึ่งคือ การถ่ายเป็นเลือดสด มีเลือดออกหลังถ่าย หรือ ขณะทำความสะอาด ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก ทั้งที่ในความเป็นจริงอาการถ่ายเป็นเลือดอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นอีก เช่น โรคแผลปริปากทวารหนัก โรคติดเชื้อของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรคลำไส้เป็นกระเปาะ และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นต้น

ริดสีดวงทวารหนัก (hemorrhoid, pile) เกิดจากเยื่อบุและกระจุกเส้นเลือดปกติบริเวณ ใกล้รูทวารหนักซึ่งทำหน้าที่เป็นหมอนกันกระแทกอยู่ภายในเกิดการขยายตัวและหย่อนยาน ทำให้เนื้อเยื่อดังกล่าวเกิดการเลื่อนที่ลงล่างออกมาสู่บริเวณปากทวารหนัก อาจร่วมกับมีการฉีกขาดของเส้นเลือด ทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารหนัก

อาการของโรคริดสีดวงทวารหนัก มักจะมีอาการถ่ายเป็นเลือดสด โดยไม่มีอาการปวด อาจพบก้อนยื่นออกมาขณะถ่าย หรือ มีก้อนที่ปากทวารหนักอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเกิดมีลิ่มเลือดอุดตันในริดสีดวงทวาร จะทำให้มีอาการปวดมาก สาเหตุที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนักยังไม่ทราบแน่ชัด มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นริดสีดวงทวารหนัก ได้แก่ ท้องผูก เบ่งมาก นั่งส้วมนาน โดยเฉพาะผู้ที่ชอบอ่านหนังสือขณะเข้าห้องน้ำ หรือคนที่ท้องเสียถ่ายบ่อย รวมถึงผู้ที่มีประวัติมีคนในครอบครัวเป็นก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูงขึ้น

อุบัติการณ์ของโรคนี้ สามารถประเมินได้ยาก เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง และผู้ป่วยบางคนที่มีอาการมากแล้ว แต่มีความอายหรือกลัวที่จะมาพบแพทย์ จึงทำให้สถิติผู้ป่วยโรคนี้ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก มีบางรายงานในต่างประเทศพบว่าสามารถพบโรคนี้มากถึง 86% ตลอดช่วงชีวิตของประชากร จึงอาจกล่าวได้ว่า โรคริดสีดวงทวารหนักเป็นโรคที่มีความชุกสูง มากโรคหนึ่ง

ทางการแพทย์มักแบ่งริดสีดวงทวารหนักออกเป็น 2 ชนิดคือ ริดสีดวงภายใน (internal hemorrhoid) และ ริดสีดวงภายนอก (external hemorrhoid)

ริดสีดวงทวารหนักภายใน คือ ริดสีดวงซึ่งเกิดในช่องทวารเหนือรอยต่อของเยื่อบุของลำไส้ตรงกับผิวหนังของช่องทวารหนัก ซึ่งเยื่อบุของริดสีดวงชนิดนี้จะมีประสาทรับความเจ็บปวดน้อยมาก นิยมแบ่งความรุนแรงของริดสีดวงทวารหนักภายในออกเป็น 4 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 มีเพียงอาการถ่ายเป็นเลือด โดยไม่มีก้อนโผล่จากปากทวารหนัก

ระยะที่ 2 มีก้อนโผล่ออกมาขณะถ่ายและกลับเข้าในปากทวารได้เองหลังถ่ายเสร็จ

ระยะที่ 3 ก้อนที่โผล่ออกมาไม่สามารถกลับเข้าไปได้เอง ต้องใช้นิ้วช่วยดัน

ระยะที่ 4 มีก้อนโผล่ออกมาตลอดเวลาหรือดันกลับเข้าไปแล้วก็ยังออกมาอีก

การรักษาทำได้หลายวิธี

วิธีที่ 1 วิธีการรักษาแบบประคับประ คอง ทำได้โดยการสร้างสุขนิสัยที่ดี ขับถ่ายให้ เป็นเวลา ไม่ควรนั่งส้วมนาน รับประทานผักผลไม้และดื่มน้ำให้เพียงพอ การรับประทานยาเพิ่มกากใยอาหารเพื่อให้ถ่ายง่ายขึ้น

วิธีที่ 2 การฉีดยาบริเวณรอบหัวริดสีดวง (sclerosing injection) เพื่อให้เกิดพังผืดรัดหัวริดสีดวงและฝ่อไปเองภายหลัง ข้อดีคือไม่เจ็บ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ฉีดยาเสร็จกลับบ้านได้เลย ได้ผลดีในริดสีดวงระยะที่ 1 และ 2 แต่ในริดสีดวงระยะที่ 3 ได้ผลไม่ค่อยดีนัก

วิธีที่ 3 การรัดยาง (rubber band ligation) วิธีการคือ แพทย์จะใช้เครื่องมือจับเหนือตัวริดสีดวงและยิงห่วงยางขนาดเล็ก เพื่อรัดเหนือหัวริดสีดวงซึ่ง เป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดเข้ามาเลี้ยง หลังจากรัดยาง เนื้อเยื่อที่ถูกรัดจะค่อย ๆ ขาดเลือด ประมาณ 5-7 วันหัวริดสีดวงก็จะหลุดออกมาเอง ริดสีดวงก็จะถูกรั้งไว้ภายในโดยพังผืดที่เกิดตามมา หลังจากรัดยางผู้ป่วยจะ มีเพียงอาการปวดถ่วงในทวารหนักเล็กน้อย น้อยรายที่จะมีอาการปวดมาก ที่สำคัญเป็นวิธีที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล วิธีนี้เหมาะกับริดสีดวงระยะที่ 2 และ 3 หรือระยะที่ 4 บางราย

วิธีที่ 4 การผ่าตัดหัวริดสีดวงออก เหมาะกับริดสีดวงระยะที่ 4 หรือระยะที่ 3 บางรายที่รักษาด้วยวิธีฉีดยาหรือรัดยางแล้วไม่ได้ผล ริดสีดวงทวารหนักภายในร่วมกับภายนอก และในกรณีที่เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ริดสีดวงอักเสบซึ่งทำให้เจ็บปวดรุนแรงมาก หรือมีเลือดออกมาก

การผ่าตัดทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะ ของริดสีดวงทวาร ความเหมาะสมให้กับผู้ป่วย แต่ละคน และความชำนาญของศัลยแพทย์ ศัลย แพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนักมักจะตัดริดสีดวงทวารออกและเย็บปิดแผลผ่าตัดโดยการใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดรอบปากทวารหนัก ไม่จำเป็นต้องฉีดยาชาเข้าไขสันหลังหรือดมยาสลบ ภายหลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายใน 1 วัน และ อาการปวดแผลมักจะไม่รุนแรง ส่วนการดูแลแผลผ่าตัดก็ไม่ยุ่งยาก และสามารถกลับเข้าทำงานตามปกติได้เร็ว

มีการนำเครื่องมือผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์มาใช้ในการผ่าตัดริดสีดวงทวารหนักแทนมีดผ่าตัดธรรมดาในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า สามารถห้ามเลือดได้ดี อาการปวดแผลผ่าตัดและระยะเวลาการหายน้อยกว่าการผ่าตัดธรรมดา แต่มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมาก จึงไม่ได้รับความนิยมเท่า ที่ควร

การผ่าตัดริดสีดวงด้วยเครื่องมือตัดและเย็บลำไส้อัตโนมัติ (staples hemorrhoidopexy) เป็นการผ่าตัดวิธีใหม่ที่เริ่มมีการทำกันมากขึ้น เหมาะกับริดสีดวงภายในที่ปลิ้นออกมาด้านนอกและสามารถดันกลับเข้าด้านในได้หมด ข้อดีคือใช้เวลาผ่าตัดสั้น อาการปวดหลังผ่าตัดไม่รุนแรง ข้อเสียคือเครื่องมือมีราคาค่อนข้างแพง อัตราการกลับเป็นใหม่สูงกว่าการผ่าตัดธรรมดา และไม่สามารถกำจัดริดสีดวงภายนอกที่เป็นมาก ๆ ได้

สำหรับริดสีดวงภายนอก โดยทั่วไปเป็นเพียงติ่งเนื้อที่อยู่ภายนอกปากทวารหนักและมักจะไม่สร้างปัญหา อาจมีเพียงความรำคาญ ทำความสะอาดยากหรือมีอาการคัน โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรักษา ยกเว้นจะก่อให้เกิดความรำคาญมากหรือเกิดการปวดบวมจากการมีลิ่มเลือดในหัวริดสีดวง การรักษามีเพียงวิธีเดียวคือ การผ่าตัดหัวริดสีดวงออก

การป้องกันไม่ให้เป็นริดสีดวงทวารหนัก ทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่ายโดยฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่นั่งส้วมนาน รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารสูง เช่น ผักและผลไม้ดื่มน้ำให้เพียงพอ และที่สำคัญเมื่อมีอาการผิดปกติ เกี่ยวกับการขับถ่ายควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่ชำนาญเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

ข้อมูลจาก นายแพทย์นพดล นฤปิติ ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาล พญาไท 3.

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวง